จะเป็นอย่างไร หากโดนฟ้าผ่าบนเครื่องบิน
Nice to Know
profile
พี่เซียนจ๋อ
2022-04-11

เคยนั่งเครื่องบินตอนฝนตกกันไหมครับ? เวลามองไปนอกหน้าต่างเห็นเมฆครึ้มฝนฟ้าคะนองมาแต่ไกลแล้วใจหวิว ๆ กันบ้างหรือเปล่า ว่าฟ้าอาจจะผ่าใส่เครื่องบินที่เรานั่งอยู่ อย่างไรก็ตาม กรณีล่าสุดที่เครื่องบินตกเพราะฟ้าผ่านั้น เกิดล่าเมื่อปี 1967 นั่นหมายความว่าเป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว ที่ไม่มีเครื่องบินตกเพราะฟ้าผ่าเลย เราะมาดูกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นครับ ในขั้นแรกสุด เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ฟ้าผ่า” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ภายในเมฆฝน หยดน้ำและเกล็ดน้ำแข็งจะถูกลมพัดให้เสียดสีกันจนเกิดประจุจำนวนมากภายในก้อนเมฆ และเมื่อเมฆมีประจุมากพอแล้วก็จะทำการปล่อยประจุสู่เมฆก้อนอื่นหรือพื้นดิน เกิดเป็น “ฟ้าผ่า” ดังนั้น เครื่องบินที่เรานั่งอยู่บนก็เปรียบเหมือนแท่งเหล็กขนาด 300 ตัน ที่บรรทุกเรามาอยู่ท่ามกลางกองประจุไฟฟ้ามหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนฟ้าผ่า แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่เป็นไรอยู่ดี

ทำไมล่ะ... สาเหตุนั้นมาจากเรื่องง่าย ๆ 2 เรื่อง

  1. เครื่องบินนั้นมีโครงนอกที่ทำจากโลหะ: เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงบนเครื่องบิน ประจุไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะไหลไปตามโครงนอกของเครื่องบินที่เป็นโลหะและจะไหลอยู่แค่เฉพาะโครงนอกของตัวเครื่องเท่านั้น ไม่มีส่วนใดไหลเข้ามาในตัวเครื่องได้ ตามหลักการของ “กรงฟาราเดย์” นั่นเองครับ
  2. Static discharger wick: นอกจากโครงนอกที่เป็นโลหะแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ Static discharger ครับ เมื่อมีฟ้าผ่าลงที่เครื่องบินแม้ประจุไฟฟ้าจะไม่ไหลเข้ามาในตัวเครื่องก็จริงแต่ก็สามารถสร้างความเสียหายหรือทำให้เกิดคลื่นรบกวนสัญญาณสำคัญต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากเราติดตั้งเจ้า wick ตัวนี้เอาไว้ล่ะก็ ประจุไฟฟ้าจะถูกปล่อยออกที่ที่ wick ติดตั้งเอาไว้ ทำให้ไม่มีคลื่นรบกวนเกิดขึ้นนั่นเองครับ Picture1 แต่ว่านะครับแต่ว่า แม้จะมีระบบป้องกันฟ้าผ่า แต่นักบินก็มักจะหลีกเลี่ยงพายุฝนและก้อนเมฆขนาดใหญ่อยู่ดี เนื่องจากกระแสลมบริเวณด้านล่างของก้อนเมฆมีความรุนแรงมาก ทำให้เป็นอันตรายต่อการบินได้ครับ สุดยอดไปเลยนะครับเทคโนโลยีสมัยนี้ น่าคิดจริง ๆ นะครับว่าในอนาคตเครื่องบินเราจะพัฒนาไปในรูปแบบไหน ไม่แน่อาจจะมีเครื่องบินที่เอาสายฟ้ามาเป็นพลังงานก็ได้นะครับ

** กรงฟาราเดย์ คือ รูปทรงปิดที่ทำจากตัวนำไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ด้านในนั้นปลอดจากสนามไฟฟ้าภายนอกได้ (สนามไฟฟ้าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในวัตถุต่าง ๆ ครับ)