ไขทุกข้อสงสัย ! วิธีคำนวณโอกาสติด TCAS66 รอบ 3 ในฟีเจอร์ <คำนวณคะแนน TCAS> แม่นยำแค่ไหน ?
Entrance Guide
TCAS66
profile
พี่เซียนจ๋อ
2023-04-21

ไขทุกข้อสงสัย ! วิธีคำนวณโอกาสสอบติด TCAS66 รอบ 3 ของพี่จ๋อในฟีเจอร์ <คำนวณคะแนน TCAS> แม่นยำแค่ไหน ? เชื่อถือได้หรือไม่ ?

เกริ่นนำกันก่อน

สวัสดีครับน้อง ๆ #dek66 ทุกคน

จากที่ทาง ทปอ. ประกาศคะแนนสอบ A-Level ในวันที่ 17 เม.ย. 66 ที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้น้อง ๆ ทุกคนมีคะแนนสอบ TGAT, TPAT และ A-Level ครบเป็นที่เรียบร้อย และสามารถคำนวณคะแนนได้แล้ว

น้อง ๆ หลายคนจึงเริ่มคำนวณคะแนนและประเมินโอกาสสอบติด หลายคนเริ่มวางแผนว่า 10 อันดับที่จะยื่นเป็นมหาวิทยาลัยและคณะอะไรบ้าง แต่ก็มีน้อง ๆ อีกหลายคนที่มีความกังวลใจเป็นอย่างมากว่าคะแนนที่ตัวเองได้จะสามารถติดคณะที่ตัวเองต้องการได้ไหม ?

พี่จ๋อเองก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกับน้อง ๆ พี่จ๋อเข้าใจถึงความลำบากและความกังวลของน้อง ๆ ดี จึงได้ทำฟีเจอร์ <คำนวณคะแนน TCAS> ขึ้นมา เพื่อช่วยให้น้อง ๆ สามารถคำนวณคะแนนและวิเคราะห์โอกาสสอบติดได้เพียงปลายนิ้ว

tcas-calculator

หลังจากที่พี่จ๋อปล่อยฟีเจอร์ในวันที่ 17 เม.ย. 66 ได้มีน้อง ๆ เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก พี่จ๋อเองก็ได้รับคำถามจำนวนมากจากน้อง ๆ ที่เข้ามาใช้งานเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในคำถามที่น้อง ๆ คาใจและถามกันเข้ามามากที่สุดคือ “พี่จ๋อคิดโอกาสสอบติดอย่างไร ?” “โอกาสสอบติดเชื่อถือได้ไหม ?” “ทำไมโอกาสสอบติดไม่เหมือนที่อีกเจ้าประเมิน ?”

วันนี้พี่จ๋อเลยเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อตอบข้อสงสัยน้อง ๆ โดยพี่จ๋อจะอธิบายวิธีคำนวณโอกาสสอบติดของพี่จ๋อว่ามีวิธีการอย่างไร ? แม่นยำหรือไม่ ? แต่ก่อนที่จะไปอธิบายถึงวิธีคำนวณ ก่อนอื่นพี่จ๋อขอเล่าก่อนว่ารุ่นพี่ปีก่อน ๆ มีวิธีคำนวณโอกาสสอบติดอย่างไร แล้วทำไมปีนี้ถึงใช้วิธีคำนวณแบบเดิมไม่ได้ ?

วิธีคำนวณโอกาสสอบติดในปีก่อน ๆ

ในปีก่อน ๆ วิธีการประเมินว่าน้อง ๆ มีโอกาสติดมากน้อยแค่ไหนจะพิจารณาจากสถิติคะแนนต่ำสุด และความยาก - ง่ายของข้อสอบที่ใช้ในคณะที่สนใจครับ เช่น สมมติน้อง ๆ เป็น #dek65 ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีที่แล้ว และอยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขั้นตอนแรกน้อง ๆ ต้องมีข้อมูลต่อไปนี้ครับ

ตารางแสดงเกณฑ์คะแนนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อสอบ เปอร์เซ็นต์
GAT 20%
PAT1 20%
PAT3 60%

ตารางแสดงคะแนนต่ำสุดย้อนหลังของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนต่ำสุดปี 64 คะแนนต่ำสุดปี 63 คะแนนต่ำสุดปี 62 คะแนนต่ำสุดปี 61
61.6753 66.6167 61.2013 68.5667

ตารางแสดงความถี่ของนักเรียนในแต่ละช่วงคะแนนสอบ

  • ปี 65

tcas-65-score-frequency

  • ปี 64

tcas-64-score-frequency

จากตารางแสดงคะแนนต่ำสุดย้อนหลังจะเห็นว่าคะแนนต่ำสุดใน 3 ปีล่าสุดอยู่ในช่วง 61 - 67 ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ทำคะแนนได้อยู่ในช่วงนี้แน่นอนว่ามีโอกาสติดครับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตารางแสดงความถี่ของนักเรียนในแต่ละช่วงคะแนนสอบ จะเห็นได้ว่า

  • GAT ปี 65 ยากกว่า GAT ปี 64 มาก
  • PAT1 ปี 65 ยากกว่า PAT1 ปี 64 เล็กน้อย
  • PAT3 ปี 65 ยากกว่า PAT3 ปี 64 เล็กน้อย

เห็นได้ชัดว่าเนื่องจากภาพรวมข้อสอบปี 65 ยากกว่าปี 64 ดังนั้นคะแนนปี 65 จะต้องต่ำกว่าปี 64 แน่ ๆ ถ้าน้อง ๆ ทำคะแนนได้เกิน 61 คะแนน นั่นคือมีโอกาสติดสูงมาก ๆ แล้วครับ

นี่ก็คือตัวอย่างของการวิเคราะห์โอกาสสอบติดในปีก่อน ๆ ครับ ซึ่งพี่จ๋อขอย้ำอีกรอบนะครับว่าในปีนี้ไม่สามารถวิเคราะห์แบบเดิมได้แล้ว ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงวิเคราะห์แบบเดิมไม่ได้ อ่านต่อได้เลยครับ

ทำไมถึงวิเคราะห์โอกาสสอบติดด้วยวิธีเดิมไม่ได้ ?

น้อง ๆ #dek66 ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ว่าพวกเราเป็นรุ่นแรกที่ข้อสอบเปลี่ยนจาก GAT/PAT เป็น TGAT/TPAT และวิชาสามัญเป็น A-Level แน่นอนว่าในเมื่อข้อสอบเปลี่ยน ความยาก - ง่าย ของข้อสอบก็เปลี่ยนตาม ยิ่งไปกว่านั้นเกณฑ์คะแนนของแต่ละคณะก็เปลี่ยนตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นกรณีเดิมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตารางแสดงเกณฑ์คะแนนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกณฑ์คะแนนปี 66 เกณฑ์คะแนนปี 65
TGAT 20% GAT 20%
TPAT3 30% PAT1 20%
A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 20% PAT3 60%
A-Level ฟิสิกส์ 20%
A-Level เคมี 10%

ตารางแสดงคะแนนต่ำสุดย้อนหลังของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คะแนนต่ำสุดปี 65 คะแนนต่ำสุดปี 64 คะแนนต่ำสุดปี 63 คะแนนต่ำสุดปี 62 คะแนนต่ำสุดปี 61
51.0196 61.6753 66.6167 61.2013 68.5667

จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นสาเหตุให้ถึงแม้ว่าเราจะรู้คะแนนต่ำสุดของทุกปี แต่ก็ไม่สามารถนำคะแนนต่ำสุดมาเทียบตรง ๆ ได้เหมือนในปีก่อน ๆ เช่นถ้าปีนี้น้อง ๆ ได้ 52.15 คะแนน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าโอกาสสอบติดสูง

วิธีวิเคราะห์โอกาสสอบติดที่พี่จ๋อใช้ เพื่อแก้ปัญหาข้อสอบและเกณฑ์คะแนนไม่เหมือนเดิม

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าในการวิเคราะห์โอกาสสอบติดของปีนี้มีปัญหาอยู่ 3 ข้อ

  1. ข้อสอบเปลี่ยน
  2. ความยาก - ง่าย ของข้อสอบเปลี่ยน
  3. เกณฑ์คะแนนเปลี่ยน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พี่จ๋อจะไม่ใช้วิธีวิเคราะห์โอกาสสอบติดจากคะแนนต่ำสุดตรง ๆ แต่จะวิเคราะห์ผ่านคะแนนสอบแต่ละวิชาแทนครับ อธิบายวิธีการคำนวณคร่าว ๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : คำนวณหาคะแนนสอบแต่ละวิชาที่ควรทำได้เพื่อให้ผ่านคะแนนต่ำสุดในแต่ละปี

จากเกณฑ์คะแนน และคะแนนต่ำสุดในแต่ละปี พี่จ๋อจะนำมาคำนวณว่า “ข้อสอบแต่ละวิชาในแต่ละปีนั้น ควรจะทำคะแนนได้เท่าไหร่ เพื่อให้คะแนนรวมผ่านคะแนนต่ำสุด” ตรงนี้น้อง ๆ บางคนอาจจะสงสัยว่า “เอ๊ะ พี่จ๋อครับ การผ่านคะแนนต่ำสุดมันสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น อาจจะทำวิชา A ได้เยอะ B ได้น้อย หรืออาจจะทำวิชา A ได้น้อย B ได้เยอะก็ได้ ?”

พี่จ๋อขอตอบว่าน้อง ๆ เข้าใจถูกแล้วครับ การจะผ่านคะแนนต่ำสุดสามารถทำข้อสอบวิชาไหนได้คะแนนเยอะหรือน้อยก็ได้ แต่ถึงตรงนี้พี่จ๋อมีตัวช่วยครับ ในปีที่แล้วพี่จ๋อได้ทำการ <จัดอันดับ TCAS> ให้กับ #dek65 รุ่นพี่ของน้อง ๆ และในปีนี้พี่จ๋อได้ทำการ <วางแผน TCAS> ให้กับ #dek66 ทำให้พี่จ๋อมีข้อมูลที่จะนำมาคำนวณหา “ความยากของข้อสอบสำหรับนักเรียนแต่ละกลุ่ม“ อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น

  • ข้อสอบ A ความยาก 7/10 สำหรับเด็กวิศวะ ความยาก 5/10 สำหรับเด็กบัญชี
  • ข้อสอบ B ความยาก 4/10 สำหรับเด็กวิศวะ ความยาก 7/10 สำหรับเด็กบัญชี

ซึ่งจากข้อมูลนี้ จะทำให้พี่จ๋อสามารถนำมาคำนวณได้ว่า “ข้อสอบแต่ละวิชาในแต่ละปีนั้น ควรจะทำคะแนนได้เท่าไหร่ เพื่อให้คะแนนรวมผ่านคะแนนต่ำสุด” ซึ่งด้วยวิธีคิดแบบนี้จะทำให้สามารถแก้ปัญหาข้อสอบเปลี่ยน ความยาก - ง่าย ของข้อสอบเปลี่ยน และเกณฑ์คะแนนเปลี่ยนได้ เช่น คณะ ก ปีที่แล้วใช้ข้อสอบ A, B, C แต่ปีนี้ใช้ข้อสอบ D, E ก็จะไม่มีปัญหาในการคำนวณ เนื่องจากพี่จ๋อรู้ความยากข้อสอบ A, B, C, D และ E สำหรับกลุ่มคณะเดียวกับคณะ ก เมื่อพี่จ๋อคำนวณค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบวิชา A, B, C ที่ควรทำได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถรู้ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบวิชา D, E ที่ควรทำได้

ขั้นตอนที่ 2 : คำนวณหาคะแนนสอบแต่ละวิชาที่ควรทำได้ในปี 66

จากขั้นตอนที่ 1 เมื่อพี่จ๋อได้คะแนนสอบที่ควรจะทำได้สำหรับแต่ละวิชาในแต่ละปีแล้ว พี่จ๋อก็นำมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อหาว่าสรุปแล้วในปี 66 นี้ คะแนนสอบที่ควรจะทำได้สำหรับแต่ละวิชาเป็นเท่าไหร่

ขั้นตอนที่ 3 : คำนวณหาคะแนนต่ำสุดในปี 66

จากขั้นตอนที่ 2 พี่จ๋อรู้แล้วว่าคะแนนสอบที่ควรจะทำได้สำหรับแต่ละวิชาเป็นเท่าไหร่ ดังนั้นพี่จ๋อแค่นำมาคิดคะแนนด้วยเกณฑ์ของปี 66 ก็สามารถคำนวณหาได้ว่าคะแนนต่ำสุดในปี 66 ที่เป็นคะแนนที่ปลอดภัยที่จะสอบติดมีค่าประมาณเท่าไหร่นั่นเอง

สรุปส่งท้าย

ถึงตรงนี้น้อง ๆ น่าจะเข้าใจกันแล้วใช่มั้ยครับว่าวิธีคำนวณโอกาสสอบติดของพี่จ๋อเป็นอย่างไร แล้วทำไมวิธีคิดแบบเก่า ๆ ถึงใช้ไม่ได้ ทั้งนี้พี่จ๋อไม่ได้การันตีนะครับว่าวิธีคิดแบบพี่จ๋อแม่นที่สุดหรือฟันธงว่าน้อง ๆ ติดหรือไม่ติดอะไร ฟีเจอร์ที่พี่จ๋อทำขึ้นมาเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่จะช่วยน้อง ๆ ในการวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ใช่จอกศักดิ์สิทธิ์ที่ฟันธงได้แน่ ๆ 100% นะครับ

สุดท้ายนี้พี่จ๋อขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ #dek66 ทุกคนในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยนะครับ ขอให้น้อง ๆ สอบติดคณะและมหาวิทยาลัยในฝันกันทุกคนเลย

*น้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่ได้คำนวณคะแนนและวิเคราะห์โอกาสสอบติด คลิกเลย ! >>> คำนวณคะแนน TCAS *

น้อง ๆ คนไหนที่วางแผนแล้วว่าจะยื่น 10 อันดับเป็นอะไรบ้าง แล้วอยากลองจัดอันดับจริง ๆ กับ #dek66 ทั่วประเทศ คลิกเลย ! >>> จัดอันดับ TCAS